เรียนธนูโพชฌงค์

ความสำคัญ

สืบเนื่องจากสภาวะทางสังคมปัจจุบัน โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเทคโนโลยี การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เอาแต่ใจตนเอง บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรธรรมชาติใกล้จะหมดลง ภัยพิบัติทางธรรมชาติเริ่มก่อตัวรุนแรงขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ห่างไกลจากความละเอียดที่มนุษย์พึงมี เราจะทำอย่างไรกับความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา

ชมรมธนูโพชฌงค์ ซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ภูมิใจนำเสนอ ธนูโพชฌงค์ (Bojjhanga Archery) นี้ มาเป็นเครื่องมือฝึกทักษะ ฝึกสติและสมาธิ ในการพัฒนา เข้าใจ แก้ไข ปรับปรุงที่ต้นตอ ต้นนำ้ ที่ใจของผู้เรียนได้จริงๆ

 

รายละเอียด

ธนูโพชฌงค์เป็นเครื่องมือเล็กๆ เครื่องมือหนึ่ง ในการฝึกสติ และสมาธิ ที่เป็นการยิงที่ไม่เน้นเป้า ไม่เน้นแม่น ไม่เน้นแข่ง แต่ยิงแล้ว “จิตว่าง” พิชิตเป้าหมาย คือ ความสุขในใจ คำว่า โพชฌงค์ คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงบทสวดที่ไว้สวดตอนพระอาพาธ แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของโพชฌงค์นั้น แปลตรงตัวว่าเป็น ธรรมที่เป็นเครื่องตรัสรู้ จึงมีความหมายว่า คนที่จะเข้าถึงการบรรลุมรรคผลได้นั้น ต้องมีโพชฌงค์ 7 ประการ ซึ่งประกอบด้วย :

  1. สติ
  2. ธัมมวิจยะ
  3. วิริยะ
  4. ปีติ
  5. ปัสสัทธิ
  6. สมาธิ
  7. อุเบกขา

ธนูโพชฌงค์ไม่ได้เป็นกีฬาที่เน้นการยิงให้แม่น เหมือนกีฬายิงธนูทั่วไป ไม่ได้เน้นที่เป้าหมายและชัยชนะ แต่เน้นที่สติและการรู้เนื้อรู้ตัว เรียกได้ว่าเป็น ธนูภาวนา เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยสร้าง “ความสุขที่แท้ในใจ”